อุปรากรจีน งิ้วปักกิ่ง

67929 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อุปรากรจีน งิ้วปักกิ่ง (中国京剧)

อุปรากรจีน เรียกเป็นภาษาพูดกันว่า “ละครงิ้ว” ละครงิ้วจีนที่โดดเด่นและมีชื่อเสียงมากประเภทหนึ่งคือ งิ้วปักกิ่ง เมื่อได้ยินชื่อก็รู้ได้เลยว่าเป็นละครงิ้วที่นิยมเล่นกันในปักกิ่งซึ่งเป็นเมืองหลวงของจีน  งิ้วปักกิ่งเกิดขึ้นในกลางยุคสมัยราชวงศ์ชิง (ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19) จากนั้นมาได้ผ่านความรุ่งเรือง ความเสื่อมโทรม และกลับสู่ความรุ่งเรืองและจนถึงการเสื่อมโทรมลงไปอีก  นอกจากพระเจ้าเฉียนหลงฮ่องเต้แล้ว กษัตริย์สมัยราชวงศ์ชิงเกือบทุกพระองค์ทรงชื่นชอบชมงิ้วมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระนางซูสีไทเฮาทรงพอพระทัยและหลงใหลในงิ้วปักกิ่งเป็นอย่างยิ่ง

ในยุคนั้นถือว่าเป็นยุคที่งิ้วปักกิ่งเจริญรุ่งเรืองที่สุด และเป็นยุคที่เกิดนักแสดงละครงิ้วที่มีชื่อเสียงมากมาย นักแสดงที่มีชื่อเหล่านี้ค่อยๆ ตั้งสำนักหรือโรงละครงิ้ว เพื่อสร้างตัวละครจำนวนมาก นักแสดงลือชื่อสมัยนั้นได้แก่เฉิงฉางเกิ่ง ถานซินเผย หวังเหยาชิง เป็นต้น นักแสดงเหล่านี้ล้วนได้สร้างคุณูปการอย่างมากต่อวิวัฒนาการของละครงิ้วปักกิ่ง และมีการจัดตั้งเป็นสำนักต่างๆมากมาย ซึ่งแสดงถึงความรุ่งเรืองของละครงิ้วปักกิ่ง อีกทั้งมีการนำบทละครงิ้วจากการแสดงงิ้วของท้องถิ่นอื่นๆ มาแสดง ทำให้เกิดนักแสดงที่สันทัดในการแสดงบทบาทแตกต่างกันไป

หลังจากที่ประเทศจีนได้สถาปนาประเทศจีนใหม่ (ค.ศ.1949) รัฐบาลจีนสมัยนั้นได้ให้ความสำคัญต่อศิลปะการแสดงงิ้วมาก โดยให้มีการจัดตั้งกลุ่มทำงานเรียบเรียงละครงิ้วที่ดีและแต่งบทละครเชิงประวัติศาสตร์ใหม่ อีกทั้งยังได้สร้างสรรค์ละครงิ้วสมัยใหม่อีกด้วย  เมื่อเริ่มการปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ.1966) ประเทศจีนเกิดความวุ่นวายครั้งใหญ่ทางสังคม ละครงิ้วแต่เดิมล้วนถูกวิจารณ์ว่าเป็น  “ภัยมหันต์แห่งศักดินา”  นักแสดงละครงิ้วถูกบีบบังคับให้เปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น สมัยนั้นเวทีงิ้วมีให้เหลือเพียงสำหรับละครแปดเรื่องที่ถือว่าเป็นแบบฉบับเท่านั้น จึงเกิดสภาพที่แปลกคือ แปดร้อยล้านคนมีเพียงงิ้วแปดเรื่องเท่านั้น สมัยนั้นไม่เพียงละครงิ้วที่ถูกกดขี่บังคับ แต่ยังรวมไปถึงศิลปะแขนงอื่นๆด้วย เช่น ภาพยนตร์ ละครพูด ละครร้อง เป็นต้น ล้วนถูกทำลายอย่างมาก ยุคนี้จึงเป็นยุคเสื่อมโทรมอีกครั้งหนึ่งของละครงิ้ว

หลังโค่นล้มพรรคทรราษฎร์ทั้ง 4  แล้ว ละครงิ้วดั้งเดิมที่ยอดเยี่ยมและละครงิ้วประวัติศาสตร์ที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่นั้นได้คืนสู่เวทีงิ้วอีกครั้ง เพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์ละครงิ้ว กระทรวงวัฒนธรรมจีนจึงได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนางิ้วปักกิ่งขึ้น เพื่อสร้างและพัฒนาคนที่มีความสามารถในการแสดงงิ้ว


 

ตัวละครของงิ้วปักกิ่ง แบ่งเป็น 4  ตัวหลัก คือ

“เซิง”   หมายถึงตัวละครชาย รวมถึง เหล่าเซิง (ตัวละครชายสูงอายุ) เสี่ยวเซิง (ตัวละครชายหนุ่ม) อู่เซิง (ตัวละครชายบู๊)

“ต้าน”   หมายถึงตัวละครหญิง รวมถึง ชิงอี (ตัวละครนาง) ฮวาต้าน (ตัวละครหญิงสาว) เหล่าต้าน (ตัวละครหญิงสูงอายุ) เตาหม่าต้าน (ตัวละครหญิงบู๊)

“จิ้ง”   หรือเรียกว่า ฮวาเหลี่ยน หมายถึงตัวประกอบชายที่มีบุคลิกลักษณะโดดเด่น (วาดรูปหน้าลวดลาย) มีถงฉุยฮวาเหลี่ยนและเจี้ยจื่อฮวาเหลี่ยน

“โฉ่ว”   หมายถึงตัวละครตลกหรือตัวโกง เช่น ตัวละครเหวินโฉ่ว หมายถึงตัวตลกหรือตัวโกงฝ่ายบุ๋น อู๋โฉ่ว หมายถึงตัวตลกหรือตัวโกงฝ่ายบู๊ (มีวิทยายุทธ์)


 

การวาดหน้างิ้ว

การวาดหน้าหรือระบายสีลงบนหน้าคนนั้นเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกคุณลักษณะนิสัย บทบาท รวมถึงชะตาชีวิตของคน การวาดหน้างิ้วมากจะวาดลงบนหน้าตัวละครจิ้งและเสียวโฉ่ว โดยมีรูปแบบ สีสันหรือลักษณะที่ตายตัว ด้วยเหตุนี้ผู้ชมเมื่อเห็นหน้าตัวละครแล้วก็สามารถแยกแยะได้ว่าตัวละครที่แสดงอยู่นั้นเป็นตัวดีหรือตัวร้าย เป็นคนฉลาดหรือเป็นคนโง่ เป็นคนที่ได้รับการเอ็นดูรักใคร่หรือเป็นคนที่ผู้คนรังเกียจเดียดฉันท์ สีสันที่ใช้ต่างกัน แสดงความหมายที่ต่างกันคือ หน้าแดงจะมีความหมายด้านดี หมายถึงคนที่มีความกล้าหาญ ซื่อสัตย์ หน้าดำ หมายถึงความหมายกลางๆ มักเป็นตัวแทนของผู้ที่มีสติปัญญาองอาจ หน้าสีน้ำเงินและหน้าเขียว ก็มีความหมายกลางๆ หมายถึงวีรบุรุษที่มุทะลุ หน้าที่เหลืองและสีขาว หมายถึงด้านไม่ดี เป็นตัวแทนคนเลวคนร้าย ส่วนหน้าสีทองหรือหน้าสีเงินนั้นหมายถึงบุคคลที่ลึกลับ ส่วนใหญ่หมายถึงเทพหรือปีศาจ

 
เครื่องดนตรีในการแสดงงิ้วปักกิ่ง

การบรรเลงดนตรีประกอบการแสดงงิ้วปักกิ่งมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น การบรรเลงเครื่องดนตรีสามารถช่วยประกอบจังหวะการแสดงและบอกอากัปกิริยาอารมณ์ของนักแสดงได้ดี รวมถึงสร้างบรรยากาศและอารมณ์ของฉากได้อีกด้วย ดนตรีที่เป็นแบบฉบับนั้นได้แก่ จิงหู (ซอปักกิ่ง) เอ้อหู (ซอสองสาย) เยวี่ยฉิน (ขิมจีน) กลอง ฆ้อง ขลุ่ย เป็นต้น งิ้วปักกิ่งเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงที่งดงาม เป็นการแสดงละครที่อยู่บนพื้นฐานความชื่นชอบของมวลชน ด้วยเหตุนี้การอนุรักษ์งิ้วปักกิ่งจึงมีเส้นทางที่สดใสอีกยาวนาน
 

ขอบคุณข้อมูลจาก ศาสตร์ศิลป์วัฒนธรรมจีน
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้