เทศกาลตรุษจีน

8959 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เทศกาลตรุษจีน ถือเป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดของชาวจีน คือเทศกาลแห่งการเริ่มต้นปีใหม่ของชาวจีน เป็นวันที่ 1 เดือน 1 ของจีนตามวันทางจันทรคติ ซึ่งการดูวันทางจันทรคตินี้บางเดือนจะมี 29 วัน เรียกว่าเดือนสั้น หรือบางเดือนมี 30 วัน เรียกว่าเดือนยาว ทำให้เดือน 12 ของแต่ละปีบางปีมี 29 วัน บางปีมี 30 วัน ต่างกับวันสิ้นปีของสากลที่จะเป็นวันที่ 31

พอใกล้ๆ จะถึงวันสิ้นปี ชาวจีนจะทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ บ้านเรือนจะได้รับการกวาดถูทำความสะอาดตั้งแต่บนลงล่าง ประตูหน้าต่างก็จะได้รับการขัดถูทาสีใหม่ซึ่งมักเป็นสีแดง และประตูหน้าต่างก็จะประดับประดาด้วยกระดาษที่มีคำอวยพรอย่าง อยู่ดีมีสุข ร่ำรวย และอายุยืน เป็นต้น ในเทศกาลตรุษจีนนี้ จะมีช่วงเวลาสำคัญๆ อยู่ 3 วันคือ วันจ่าย วันไหว้ และวันถือ

          

  •   วันจ่าย คือวันก่อนวันสิ้นปี 1 วัน ใครจะต้องซื้อหาอะไรเตรียมของยังไม่เรียบร้อยก็ให้ทำเสร็จในวันจ่าย ก่อนที่ร้านค้าจะหยุดยาว
  •   วันไหว้ คือการไหว้ในวันสิ้นปี ซึ่งถือเป็นประเพณีสำคัญของชาวจีน ที่จะมีการไหว้ ดังนี้
           การไหว้เจ้าที่และเทพยดา : จะทำกันในตอนเช้า
           การไหว้บรรพบุรุษ : จะทำกันในตอนสายก่อนเพล
           การไหว้ไป๊ฮ้อ เฮียตี๋ : จะทำในช่วงบ่าย

  •  วันถือ คือวันตรุษจีนหรือวันขึ้นปีใหม่ นิยมเรียกกันว่า “วันชิวอิค” แปลว่าวันที่ 1 โดยถือว่าวันนี้ทุกคนจะต้องพูดและทำแต่สิ่งที่เป็นมงคล เช่น ไม่มีการพูดว่ากัน แต่จะกล่าวคำอวยพร “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้” ที่แปลว่า สวัสดีปีใหม่ ขอให้เจริญรุ่งเรือง นั่นเอง ใส่เสื้อผ้าชุดใหม่สวยงาม ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่อารมส์เสีย ไม่หงุดหงิด ไม่ทำงานหนัก เพื่อที่ว่าตลอดปีจะได้ไม่ต้องทำงานหนักนัก ส่วนการถืออื่นๆ ก็เช่น ห้ามจับไม้กวาดกวาดบ้าน เพราะถือว่าอาจกวาดสิ่งดีๆ ในบ้านออกไป แล้วกวาดสิ่งไม่ดีเข้ามา  วันถือนี้ บางคนเรียกว่า “วันเที่ยว” ซึ่งคงมาจากธรรมเนียมการแต๊ะเอีย ที่พอลูกหลานและลูกจ้างได้เงินแต๊ะเอีย ที่เปรียบได้กับโบนัสพิเศษ ก็จะไปเที่ยวกันนั่นเอง

พิธีเซ่นไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิ่งเอี้ย

หลังเที่ยงคืนของวันไหว้บรรพบุรุษนั้น จะตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่จีน และเชื่อว่าเมื่อเริ่มต้นวันปีใหม่ “เทพเจ้าไฉ่ซิ่งเอี้ย” ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภและความร่ำรวย จะเสด็จลงมาให้พรแก่ผู้เซ่นไหว้ ชาวจีนจะเซ่นไหว้อัญเชิญมาประทับที่บ้านหรือร้านค้าหรือบริษัท เพื่อช่วยดลบันดาลให้มั่งมีศรีสุข ร่ำรวย มีโชคลาภ เครื่องเซ่นไหว้รับเทพเจ้าไฉ่ซิ่งเอี้ย มีดังนี้

  •  รูปของเทพเจ้าไฉ่ซิ่งเอี้ย
  •  เทียนแดง 1 คู่
  •  ผลไม้มงคล 5 อย่าง
  •  ข้าวสวย 5 ถ้วย
  •  ขนมจันอับ 1 จาน
  •  ชุดไหว้กระดาษเงินกระดาษทองสำหรับไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิ่งเอี้ย
  •  เจไฉ่ 5 อย่าง ได้แก่ เห็ดหอม เห็ดหูหนู ดอกไม้จีน วุ้นเส้น ฟองเต้าหู้
  •  แจกันปักดอกไม้สด 1 คู่ (ดอกไม้สีแดงยิ่งดี)
  •  กระถางธูป 1 ใบ
  •  สาคูแดงต้มสุก 5 ชาม
  •  น้ำชา 5 ที่
เทพเจ้าไฉ่ซิ่งเอี้ย จะเสด็จลงในแต่ละปี จะต่างเวลาต่างทิศกัน การเซ่นไหว้จะต้องสืบทราบว่าปีนี้ท่านจะเสด็จลงกี่โมง ทางทิศใด จะต้องตั้งโต๊ะ หันทิศและเวลาให้ถูกต้อง ส่วนกระดาษสีเขียว 1 แผ่นที่อยู่ในชุดเซ่นไหว้ ให้เขียนชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิดของผู้ไหว้ จะกี่คนก็ได้ ส่วนกระดาษสีแดงเป็นเทียบเชิญสำหรับเขียนคำเชิญเทพเจ้า เมื่อเสร็จพิธีให้นำเครืองกระดาษทั้งหมดเผา อาหารที่นำมาเซ่นไหว้ให้รับประทานเพื่อความเป็นสิริมงคล


ประเพณีการไหว้บรรพบุรุษ

การไหว้บรรพบุรุษของคนจีน จะประกอบด้วยชุดของเซ่นไหว้ 3 ชุด คือ
ชุดไหว้ของคาว จะเป็นโหงวแซหรือซาแซก็ได้ โหงวแซ คือ ของคาว 5 อย่าง ได้แก่หมู ไก่ เป็ด ปลา กุ้งมังกร หรือใช้ปลาหมึกแห้งแทนอย่างใดอย่างหนึ่ง (โหงว หรือ ซา หมายถึง เครื่องเซ่นไหว้ชุดละ 5 อย่าง หรือ 3 อย่าง)

ชุดไหว้ของหวาน จะเป็น โหงวเปี้ย หรือซาเปี้ย โหวเปี้ย คือ ขนมหวาน 5 อย่าง ได้แก่ ขนมเทียน ขนมเข่ง ซาลาเปาไส้หวาน ขนมถ้วยฟู และขนมจันอับ

ชุดไหว้ผลไม้มงคล จะเป็นโหงวก้วย หรือซาก้วย โหงวก้วย คือผลไม้มงคล 5 อย่างได้แก่ ส้ม(ความโชคดี) องุ่น(งอกงาม) สับปะรด(มีโชคมาหา) กล้วยหอม(มีลูกหลานสืบสกุล) แอปเปิล(มีโชคลาภมากขึ้น)

อาหารที่นำมาไหว้บรรพบุรุษ จะเป็นอาหารหรือขนมที่มีลักษณะเป็นน้ำ ข้าวสวย น้ำชา เหล้า กระดาษเงิน-กระดาษทองจะมีการนำมาเผาเมื่อเสร็จสิ้นการเซ่นไหว้ ชาวจีนเชื่อว่าการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษนั้น บรรพบุรุษจะดลบันดาลให้ผู้ไหว้อยู่เย็นเป็นสุข มีเงิน มีทอง มีโชคลาภและการค้าขายเจริญรุ่งเรือง มีลูกหลานที่ดีสืบสกุล


การไหว้ไป๊ฮ้อเฮียตี๋

เป็นการไหว้ผีญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ของไหว้ที่ขาดไม่ได้ คือ ขนมเข่ง ขนมเทียน เผือกเชื่อมน้ำตาล กระดาษเงิน กระดาษทองและการจุดประทัด

เรื่องการจุดประทัดนี้ มีตำนานเล่าว่า ในสมัยโบราณชาวจีนนิยมนั่งคุยและปิ้งอาหารกินกันข้างกองไฟในเวลาค่ำ ทำให้เหนียน(สัตว์ร้ายตัวใหญ่ รูปร่างคล้ายแรดผสมวัว) ได้กลิ่นอาหาร จึงออกมาจากป่าทำให้ผู้คนหวาดกลัว แต่พอเหนียนเข้ามาใกล้กองไฟกลับตกใจเสียงไฟแตกปะทุในกองไฟจึงวิ่งหนีไป ตั้งแต่นั้นมาชาวจีนจึงได้ประดิษฐ์สิ่งของสีแดง ที่มีเสียงดังเพื่อขับไล่เหนียน จนพัฒนามาเป็นประทัดและใช้จุดในเทศกาลต่างๆ เพื่อขับไล่สิ่งร้ายๆให้จากไป


อั่งเปา

ในวันขึ้นปีใหม่นี้ เด็กๆทุกคนในครอบครัว จะได้รับแจกเงินเป็นของขวัญ เป็นเงินสิริมงคลที่ผู้ใหญ่ให้แก่ลูกหลาน เพื่ออวยพรให้มีสุขภาพแข็งแรงและเจริญก้าวหน้า สมัยก่อนเป็นเงินเหรียญมีรูร้อยด้วยด้ายแดงนำมาผูกเอวเด็ก เรียกว่าเงิน “แต๊ะเอีย” (ผูกเอว) ส่วนสมัยนี้ใช้ธนบัตรใส่ซองสีแดง เรียกว่า อั่งเปา

เงินอั่งเปาหรือแต๊ะเอียนี้พ่อแม่จะเป็นฝ่ายให้ลูกหลาน แต่ถ้าลูกได้ทำงานหรือออกเรือนแล้ว ก็จะเป็นฝ่ายให้พ่อแม่ ซึ่งพ่อแม่ที่มีฐานะดีก็มักจะแต๊ะเอียกลับคืนมาในจำนวนที่เท่ากันหรือให้เพิ่มมากขึ้นได้ แต่จะต้องเป็นเงินของพ่อแม่เอง ไม่ใช่เอาเงินที่ลูกให้นั้นกลับคืน ส่วนเขย สะใภ้ ตามธรรมเนียมก็ควรให้น้องสามีและน้องภรรยา ส่วนคนที่มีศักดิ์เป็นลุง ป้า น้า อา ก็ควรมีแต๊ะเอียให้หลานๆเช่นกัน

ธรรมเนียนการแต๊ะเอียนี้ ผู้ใหญ่ที่พิถีพิถันจะเอาเงินใส่ซองแดงอย่างมีเคล็ด คือให้เป็นเลขที่ดีที่สุด เรียกว่า “ซี่สี่” เพราะถือเป็นเลขสิริมงคล ซี่ กับ สี่ คือเลข 4 ซี่สี่ ก็คือ คู่สี่ นั่นเอง เช่น 400บาท, 800บาท, 1,200บาท


ส้มกับการไหว้ขอพร

      


ธรรมเนียมหนึ่งในวันตรุษจีนคือการไป “ไป๊เจีย” หรือการไปไหว้ขอพรและอวยพรผู้ใหญ่หรือญาติมิตร มีการหิ้วส้มไปแลกเปลี่ยนกันโดยวิธีการคือจะนำส้มสีทอง 4 ผล ห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าผืนใหญ่มาส่งให้ญาติมิตร หรือผู้ใหญ่ที่ตนนับถือ พร้อมกับคำอวยพรที่มีความหมายเป็นมงคล และตามธรรมเนียมนั้นเมื่อเจ้าบ้านได้รับส้มแล้วก็จะหยิบส้ม 2 ผลของแขกขึ้นมาเปลี่ยนกับส้ม 2 ผลของตนแทน แล้วคืนส้ม 4 ผลให้แขกนำกลับบ้านไป เพราะส้มนี้มีคำจีนเรียกว่า “ไต้กิก” ไต้ แปลว่าใหญ่ กิก แปลว่า มงคล ไต้กิกจึงมีความหมายว่า มหาสิริมงคล ดังนั้น การแลกส้มกันจึงมีความนัยว่า ต่างฝ่ายต่างเอาความโชคดีมามอบให้แก่กัน โดยมากนิยมใช้กันแต่ส้มสีทอง ไม่ใช้ส้มเขียว เพราะสีทองเป็นสีมงคล ทองที่เหลืองอร่ามจะเสมือนเป็นการอวยพรให้เจริญรุ่งเรือง ชีวิตมีความราบรื่นเสมือนผลกลมของส้มนั้นเอง

ขอบคุณข้อมูลจากนิตยสารแม่บ้าน
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้